วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Slumdog Millionaire(2008): สลัมลูกหมา


 ...ผมเคยสงสัยว่าจริงๆ แล้วคนเรามีสิทธิ์ที่จะกำหนดชีวิตของตัวเองหรือไม่ ผมเคยเชื่อในเสรีภาพในการเลือกของตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองเลือกที่จะทำนั้นดีที่สุดแล้ว แต่เรากลับพบในภายหลังว่าสิ่งที่เราเคยคิดว่ามันจะดีที่สุด มันอาจจะล้มเหลวลงได้ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาในถนนเส้นที่เราเลือกเดิน ด้วยเหตุนี้เองผมจึงเชื่อในเรื่องพรหมลิขิต ทุกคนในโลกใบนี้หากไม่มีความเชื่อในสิ่งนี้เราจะหาเป้าหมายในชีวิตของเราไม่ได้ เพราะอย่างน้อยหากเราท้อในชะตากรรมของตัวเองแม้ว่าเราพยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว เราก็บอกกับตัวเองว่ามันคือพรหมลิขิต มันเป็นชะตากรรมของเราที่ไม่สามารถกำหนดให้มันเป็นไปอย่างที่ต้องการ หนังเรื่อง Slumdog Millionaire เป็นเรื่องราวที่ตอกย้ำความเชื่อในเรื่อง พรหมลิขิต (Destiny) ของผมอีกครั้ง...


...ในบรรดาภาพยนตร์ 5 เรื่องที่ได้เข้าชิง Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ผมมีโอกาสได้ดู เรื่องราวของตัวหนังไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเล่นเกมเศรษฐีที่เคยโด่งดังสมัยคุณไตรภพเป็นพิธีกร แต่เบื้องหลังคำตอบจากไอ้ลูกหมาจากย่านสลัมชื่อ จามาล ที่สามารถพิชิตทุกคำถามกลับกลายเป็นเรื่องราวที่ไม่คาดคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เขาพานพบมันมาค่อนชีวิต หนังเริ่มต้นด้วยคำถามว่าแบบปรนัยว่า จามาล มาลิค เหลือเพียงอีกคำถามเดียวที่เขาจะพิชิตเงินรางวัล 20 ล้านรูปี เขาทำได้อย่างไร A.เขาโกง B.เขาโชคดี C.เขาเป็นอัจฉริยะ หรือ D.มันถูกกำหนดไว้ หนังทิ้งให้เราค้นหาคำตอบและเฉลยในประโยคสุดท้ายว่า มันถูกกำหนดไว้ ความเชื่อทางศาสนาแทบทุกศาสนาเชื่อว่าจริงแล้วมนุษย์ไม่ได้มีเสรีภาพอย่างแท้จริง ทุกชีวิตบนโลกถูกกำหนดให้มีลิขิตที่แตกต่างกันไป เหมือนกับคำถามแบบปรนัยที่มันมีคำตอบที่แน่ชัดตั้งแต่เกิดว่า คนที่มาจากวรรณะใด ต้องมีชีวิตเยี่ยงวรรณะนั้น แฉกเช่นเดียวกับคนที่มาจากสลัมย่อมต้องมีชีวิตแบบลูกหมาข้างถนนเช่นนั้นหรือ...


...หลังจากนั้นหนังได้นำย้อนเรื่องราวของเด็กสลัม 3 คน จามาล ซาลิม และลาติกา ผ่านภาพในอดีตของจามาลก่อนที่เขาจะมาแข่งขันรายการเกมเศรษฐี อินเดียถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้น้อยมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกเนื่องจากในอดีตมีการแบ่งวรรณะ และในปัจจุบันวรรณะนั้นได้กลายเป็นชนชั้น ความมั่งคั่งจึงกระจุกอยู่ที่คนส่วนน้อยในประเทศ ผู้คนในเมืองใหญ่จำนวนมากยังคงยากจนอยู่ รวมถึงความเชื่อและศาสนาก็มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน Slumdog Millionaire แสดงถึงความขัดแย้งทางความเชื่อ ในฉากหนึ่งที่สะเทือนใจผมมากกับประโยคที่จามาลบอกกับนายตำรวจว่า ผมตื่นขึ้นมาทุกเช้า แล้วภาวนาว่าผมไม่รู้คำตอบนั้น ...ถ้าไม่ใช่เพราะ พระราม และ อัลเลาะห์ ...แม่ผมคงยังมีชีวิตอยู่ ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่าง พราหมณ์-ฮินดู และอิสลาม ยังคงเป็นปัญหาในอินเดียที่แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยไม่เหลียวแล หรือเป็นเพียงเพราะพวกเขาอยู่ในสลัม...


...ในวัยเด็กของทั้งสามคนทำให้ผมนึกถึงเด็กขายพวงมาลัยเวลากลางคืนตามร้านอาหารในเชียงใหม่ ผมเป็นคนที่ค่อนข้างใจแข็งไม่เคยซื้อของจากเด็กเหล่านั้น เพราะผมถือว่านั่นคือการสนับสนุนผู้ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังให้กอบโกยประโยชน์จากความน่าสงสารของพวกเขา ผมบอกกับพวกเขาเสมอว่าให้กลับบ้านไปนอน เพราะพวกเขาทำให้ผมย้อนนึกถึงตัวเองในวัยเดียวกัน เวลาประมาณสองสามทุ่มเป็นเวลาที่พวกเราต้องทำการบ้าน จัดหนังสือเข้ากระเป๋าตามตารางเรียนในแต่ละวันแล้วเข้านอน แต่มันอาจมีความจำเป็นบางอย่างที่พวกเขาต้องใช้เวลานี้ทำมาหากิน สำหรับผมถ้าหากเราไม่สนับสนุนมันอาจจะลดจำนวนเด็กเหล่านั้นบ้างก็ยังดี เด็กบางคนถูกทำให้พิกลพิการเพื่อเรียกร้องความสงสาร หรือเพื่อเพิ่มมูลค่าเหมือนที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ ถ้าพวกเขาเลือกได้พวกเขาคงไม่อยากอยู่ในสภาพเดียวกับ เออร์วินด์ เด็กชายผู้ทำให้ จามาล รู้จัก เบนจามิน แฟรงคลิน ชายผู้มีรูปบนธนบัตรใบละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ พรสวรรค์ทางด้านการร้องเพลงกลับทำให้เขากลายเป็นคนพิการ ฉากที่ เออร์วินด์ สัมผัสหน้า จามาล แล้วบอกว่าจามาลโชคดี แต่เขาเองแหละที่โชคร้าย มันคือความแตกต่าง แสดงให้เห็นว่าคนบางคนมีโอกาสที่จะกำหนดชีวิตของตัวเอง แต่สำหรับบางคนทำได้เพียงยอมรับในชะตากรรมของตัวเอง...


... ไม่มีใครในโลกนี้เลือกเกิดได้ ทุกคนเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตบนโลกนี้ ประสบการณ์เหมือนกับรอยจารึกที่มันจะประทับลงในผัสสะทั้ง 5 จามาล มาลิค เขาไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลอัจฉริยะ เพราะทุกคำถามมันมีคำตอบบนร่องรอยความหลังที่มันฝังอยู่ในความทรงจำ เฉกเช่นเดียวกับบาดแผลบนใบหน้าของ ลาติกา ที่เขาบรรจงจูบมันอย่างรักใคร่ในความเป็นเธอ รักใคร่ในทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของทั้งสองคน...


...พรหมลิขิตมักจะใช้ในเรื่องของความรัก เพลงรักมากมายมักจะพูดถึงคำนี้ เหมือนกับความรักที่ จามาล มอบให้ ลาติกา แม้ทั้งสองพลัดพรากกันถึงสองครั้งสองคราทั้งตอนที่ทั้งคู่ยังเด็ก และตอนเป็นวัยรุ่น แต่เพราะ จามาล ยึดมั่นในในรักแท้ที่เขาเชื่อว่ามันมีอยู่จริง เขาตามหาเธอจนพบ ผมสังเกตเห็นในใบปิดของหนังเรื่องนี้ มีคำถามเหมือนในเกมเศรษฐีว่า “What does it take to find a lost love?” A.Money B.Luck C.Smarts D.Destiny” แน่นอนคำตอบที่หนังเฉลยคือข้อ “D.Destiny” ลาติกาพบว่าแม้เธอจะมีเงินทองมากมายแต่ต้องแลกกับการทนอยู่กับคนที่เธอไม่ได้รัก จามาลเองก็พบว่าโชคให้เขาได้เพียงเงินทอง คนฉลาดในการเอาตัวรอดอย่างซาลิมต้องจบชีวิตลงเพราะเลือกใช้ชีวิตแบบอาชญากร บทสรุปคือรักแท้ในโลกใบนี้มันถูกกำหนดไว้แล้ว เราไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนขีดเขียนเอาไว้ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อในพระพรหมว่าเป็นผู้ลิขิต มุสลิมหรือคริสเตียนเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า ชาวพุทธอย่างเราเชื่อเรื่องการทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน สรุปแล้วมันก็คือเรื่องเดียวกัน พลังของหนังเรื่องนี้ได้บอกกับเราว่าอย่าเพิ่งท้อแท้ในชะตากรรมที่เราอาจไม่ได้เป็นผู้กำหนด บางทีเราทำดีที่สุดแล้วแต่มันกลับไม่ได้ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ อย่าไปโทษใครเลย มันคือพรหมลิขิตมันนอกเหนือการควบคุมของเรา แต่อย่าท้อถอยให้ยอมรับในผลลัพธ์ของมัน แล้วพยายามใหม่ ขอเพียงเชื่อมั่นและศรัทธาในสิ่งที่กำลังจะทำและทำให้ดีที่สุด อาจจะมีสักวันหนึ่งที่มันจะเป็นวันของเราเหมือนกับวันที่ ไอ้สลัมลูกหมาชื่อ จามาล บอกกับ ลาติกา ว่า มันคือพรหมลิขิตของเรา...


-อั๋นน้อย-

The Dark Knight (2008): แสงสว่างรำไรที่ปลายอุโมงค์



...ในบรรดาหนัง Superhero ทั้งหลายเห็นจะมี Batman เท่านั้นที่ไม่ได้มีพลังพิเศษจากฟากฟ้าและใกล้เคียงมนุษย์ที่สุด Christopher Nolan ทำให้หนังแนวนี้แตกต่างไปจาก Superhero ทั่วไปที่ดูสนุกมาก เดาทางไม่ถูก และให้ความหวังกับมนุษย์ทุกคน ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงความรู้สึกหลังจากดูหนังเรื่อง “No Country for Old Men” กับเรื่องนี้ หนังของพี่น้อง Coen ทำให้หดหู่และหมดหวังที่ความดีงามจะตามทันความชั่วร้ายแต่ “The Dark Knight” ของตระกูล Nolan ให้ความหวังเราว่าความดีงามมันยังหลงเหลืออยู่แม้มันจะเป็นเหมือนแสงที่รำไรที่ปลายอุโมงค์ ปรัชญาจีนมีนักปราชญ์จีนสองสายที่ให้คำนิยามเกี่ยวกับจิตใจของมนุษย์ว่าแท้จริงแล้วจิตใจของมนุษย์ดีงามหรือชั่วร้าย เม่งจื๊อกล่าวว่าธรรมชาติจิตสันดานของมนุษย์นั้นดีงามความชั่วที่มาเปื้อนจิตใจที่บริสุทธิ์นั้นมันเกิดจากสภาพแวดล้อมต่างๆ  แต่มีอีกท่านหนึ่งคือซุ่งจื๊อที่เห็นตรงกันข้ามว่าธรรมชาติจิตสันดานของมนุษย์นั้นชั่วร้ายความดีงามนั้นมนุษย์มาเรียนรู้ที่หลัง แต่สำหรับผมแล้วผมไม่ทราบว่าความจริงแล้วข้อคิดเห็นไหนกันแน่ที่ถูกต้อง แต่ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีแนวโน้มที่จะชั่วร้ายเพราะว่าเรามีความรู้สึกขึ้นอยู่กับว่าเราจะรับความรุนแรงของสถานการณ์นั้นๆ ได้มากได้น้อยเพียงไร...



หลังจาก Batman Begin ในภาคแรก และ The Dark Knight ในภาคนี้ Bruce Wayne ยังคงยึดมั่นที่จะกวาดล้างอาชญากรให้สิ้นซากไปจาก Gotham City โดยการช่วยเหลือของหมวด Gordon และอัยการคนใหม่ของเมืองนี้ชื่อ Harvey Dent ในตอนแรกเหมือนการกวาดล้างจะประสบผลสำเร็จ แต่การ  ปรากฎตัวของ The Joker ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป อาชกรไร้หัวใจผู้มีความรักสนุกในการทำลายล้างโดยไม่เห็นแก่สิ่งใดๆ นอกจากความสะใจ นอกจากนั้น Batmanยังต้องเจอกับเรื่องรักสามเศร้าระหว่างเขา Rachel และ Dent ศัตรูที่ Batman ต้องต่อกรด้วยในภาคนี้ไม่ธรรมดาเลยเพราะมันเป็นคนชั่วที่ฉลาดล้ำ และสามารถดึงด้านมืดของคนให้ปรากฎสุดท้ายแล้วผมเชื่อว่าทั้งคู่เสมอกัน เพราะว่าบนโลกใบนี้มันมีทั้งขาวกับดำ แม้ว่าคนหนึ่งเป็นตัวแทนด้านมืด อีกคนเป็นตัวแทนด้านสว่าง แต่สุดท้ายแล้วในโลกมันก็ต้องมีทั้งขาวและดำ...


...Superhero แทบทุกเรื่องจะต้องมีพลังพิเศษที่เหนือธรรมชาติสามารถต่อกรกับเหล่าร้ายที่มีพลังเหนือมนุษย์เช่นกัน และผลลัพธ์สุดท้ายส่วนใหญ่จะชนะเหล่าร้ายพร้อมกับได้รับการยอมรับจากผู้คนแต่สำหรับ Batman ฉบับ Christopher Nolan คือคนๆหนึ่งที่พยายามใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์เพื่อต่อกรกับสิ่งชั่วร้ายที่เกิดจากมนุษย์ ส่วน The Joker ในเรื่องก็ไม่ได้มีพลังพิเศษใดๆนอกจากการใช้สติปัญญาในการปลุกเร้าด้านมืดของคนจนสามารถเปลี่ยนคนจากคนที่เป็นแสงสว่างให้กับผู้คนเมือง Gotham ให้กลายเป็นอาชกรได้เพียงข้ามคืน The Joker สามารถดึงปิศาจในใจมนุษย์ปุถุชนทั่วไปให้ปรากฎรูปของ ความโกรธ ความเกลียด ความแค้น อารมณ์เหล่านี้แสดงออกถึงความอ่อนแอของมนุษย์และทำให้มนุษย์พ่ายแพ้ต่อปิศาจผลลัพท์สุดท้าย Batman กลับเป็นผู้รับผิดและถูกสาปแช่งจากผู้คน

...ตลอดเวลาที่ผมครุ่นคิดหลังจากดูหนังเรื่องนี้ นี่เป็นความรู้สึกจริงๆ หลังจากดูหนังเรื่องนี้จบหนังเรื่องนี้จบ ผมไม่ได้เจตนาที่จะหลบหลู่ศรัทธาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่รู้จะเปรียบเทียบอย่างไรให้มันมีมิติที่สัมผัสได้ เพียงแค่มันมีความรู้สึกแว่บหนึ่งเข้ามาในหัวสมองและใช้เวลาตรึกตรองแล้วมันน่าจะเป็นไปได้ว่า Superhero ที่แท้จริง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความเสียสละ (Sacrifice) เสียสละเหมือนพระเยซูคริสต์ที่ยอมรับบาปที่มนุษย์ก่อแต่เพียงผู้เดียว และ Batman ก็เช่นกันเขายอมรับผิดที่มนุษย์คนหนึ่งซึ่งถูกด้านมืดเข้าครอบงำจนถลำลึกเพื่อให้มนุษย์ทีเหลืออยู่ยังคงศรัทธาและเห็นคุณค่าของความดี การแบกรับภาระนี้มันคล้ายๆกับพระเยซูที่ขอไถ่บาปให้กับมนุษย์ที่หลงผิด มุมมองของ Superhero ใน The Dark Knight จึงแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ในแนวเดียวกันมันอาจจะจริงจังจนบางคนที่เคยยึดติดภาพมนุษย์จอมพลังอาจจะพาลหมั่นใส้ Bruce Wayne มหาเศรษฐีหนุ่มที่เพียบพร้อม อยู่เฉยๆ ก็สบายไปทั้งชาติแล้วมันจะมาเป็น Batman ทำไม?...


ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Christopher Nolan จึงเป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิจารณ์ทั่วโลก ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นผู้กำกับที่เป็นขวัญใจคอหนัง เพราะหนังของเขาแทบทุกเรื่องเป็นหนังที่ดูสนุกตื่นเต้นเกินขาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ทุกๆเรื่องของเขาไม่ว่าจะเป็นหนังแจ้งเกิดเรื่อง Memento จนกระทั่งถึง The Dark Knight มักจะเล่นกับสิ่งที่เห็นกับความจริงเบื้องหลัง สิ่งที่ปรากฎตอนเริ่มต้นของหนังไม่สามารถบอกความจริงเบื้องหลังของเหตุการณ์ต่างๆได้เลยจนกระทั่งเราได้ดูหนังของเขาจนจบ(เคยโดนมาหลายดอกแล้วครับทั้ง Memento, The Prestige) แม้กระทั่งในเรื่อง The Dark Knight เขาทำให้ตัวละครทุกตัวในหนัง (ยกเว้น The Joker) เหมือนมนุษย์มากที่สุด มนุษย์ที่มีทั้งด้านมืดและสว่างพร้อมที่เป็นด้านใดด้านหนึ่งได้ทันที ความเป็นปัจเจกที่เรามักจะได้เห็นในหนังของเขาและไม่เคยทำให้ผิดหวัง...

...มีหลายๆฉากในหนังเรื่องนี้ที่แสดงถึง ความเป็นมนุษย์ (Humanity)” สันดานของคนที่มีทั้งดีงามและชั่วร้ายเหมือนท่านเม่งจื้อและท่านซุ่งจื้อได้กล่าวไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่เหนือสิ่งอื่นใดหนังเรื่องนี้มันกลับให้ความหวังว่าความดีมันยังหลงเหลืออยู่ในจิตใจมนุษย์ทุกคน ถ้าหากความมืดคือความชั่ว และแสงสว่างคือความดี อัศวินแห่งรัตติกาล คือ แสงสว่างเดียวของชาวเมือง Gotham City แม้ว่าแสงนั้นจำต้องส่องสว่างรำไรบนปลายอุโมงค์ที่มืดมิด...



-อั๋นน้อย-

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

The Kids Are All Right (2010): This is my family!



                หากใครถามหาครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ ครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูกๆ “The Kids Are All Right” ไม่ได้มีครบองค์เพราะครอบครัวเลสเบี้ยนนี้มีแม่สองคน Nic (Annette Bening) กับ Jules (Julianne Moore) และลูกๆอีกสองคนที่เกิดจากการขอน้ำเชื้อจากธนาคารสเปิร์ม วันดีคืนดีเมื่อลูกคนโต Joni (Mia Wakikowska) อายุครบสิบแปดกำลังจะเข้าวิทยาลัย เจ้าตัวเล็ก Laser (Josh Hutcherson) เกิดอยากรู้ว่าใครเป็นเจ้าของน้ำเชื้อ พร้อมทั้งเชื้อเชิญคุณพ่อทางชีวภาพ Paul (Mark Ruffalo)เข้ามาในครอบครัว Nic และ Jules พยายามรับมืออย่างสุขุมแต่มันกลับเลยเถิดจนเกือบทำให้ครอบครัวแตกแยก


               The Kids Are All Right เป็นหนังครอบครัวที่อุ่นอวลด้วยความรักที่คุณแม่เลสเบี้ยนมอบให้กับลูกทั้งสองคน ผมเชื่อว่าทุกครอบครัวต้องเคยรับมือกับเรื่องทั้งดีและร้ายมาแล้วทั้งนั้น เรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้ความอดทนและความเข้าใจ เชื่อในวันเวลาในการบ่มเพาะความรัก และพร้อมให้อภัยในความผิดพลาดของคนในครอบครัว เมื่อเด็กๆ อยากพบกับคุณพ่อทางชีวภาพ Nic กลับไม่ห้ามเพียงแค่อยากมีส่วนร่วม จี๊ดเพียงเล็กๆ เพราะอดรู้สึกไม่ได้ว่าลูกๆ ขาดอะไรที่เธอให้ไม่ได้ เมื่อ Nic รู้สึกตัวว่าคนในครอบครัวทั้งสามคนเริ่มสนิทสนมกับ Paul มันกลับทำให้ Nic ย้อนกลับไปมองตัวเองว่าเธอมองข้ามสิ่งดีๆ ในตัวผู้ชายคนนี้ เธอออยากเข้าใจคนในบ้านให้มากขึ้น จนนำไปสู่ฉากดินเนอร์ที่บ้าน Paul ที่คนดูได้เห็นการแสดงขั้นเทพของ Annette Bening ท่วงท่า การพูดจา และบุคลิกของผู้หญิงที่ทำหน้าที่ได้ทั้งแม่และพ่อในคราวเดียวกัน สีหน้ายินดีเมื่อค้นพบว่า Paul มีรสนิยมทางดนตรีเดียวกัน เก็บกดความรู้สึกเมื่อรู้ว่า Jules นอกกาย(ใจ) เจ็บปวดเมื่อลูกๆ รู้ความจริง ผมแอบลุ้นลึกๆ ว่าเธอจะคว้าออสการ์สาขาดารานำหญิงยอดเยี่ยมได้เสียที หลังจากที่เธอเข้าชิงถึง 3 ครั้ง และสองครั้งหลังพ่ายให้กับ Hilary Swank ครั้งนี้ต้องมาประชันกับรุ่นน้องอย่าง Natalie Portman ที่รับบทนักบัลเลย์วิตกจริตใน Black Swan


            Jules แม่บ้านที่เบื่อกับชีวิตเดิมๆ อยากกระโดดออกมาทำสิ่งใหม่ๆ อยากได้รับการยอมรับจาก Nic ว่าเธอก็มีศักยภาพสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องให้ Nic ทำงานเลี้ยงครอบครัวเพียงฝ่ายเดียว สิ่งที่เธอต้องการกลับมีอยู่ในตัว Paul เขาชื่นชมและยอมรับในความสามารถของเธอ ซึ่ง Nic ไม่เคยใส่ใจ ชีวิตการแต่งงานที่ยาวนานสามารถทำให้ Jules เบื่อหน่ายและมองเห็นแต่สิ่งที่ไม่ดีของ Nic จนเผลอไพลจากความต้องการทางกายและทางใจ บทหนังฉลาดใช้วุฒิภาวะของตัวละครในการแก้ปัญหา Jules เลือกที่จะหยุดความสัมพันธ์นั้น และต้องการให้คนในบ้านให้อภัย

               คำว่าผู้ชายลัลล้าคงเหมาะสมที่จะนิยามความเป็น Paul เจ้าของน้ำเชื้อ ผู้ชายที่ไม่ประสบความสำเร็จในตอนเป็นวัยรุ่น จนต้องไปขายน้ำเชื้อให้กับธนาคาร คนที่ห่างไกลกับคำว่าครอบครัว ใช้ชีวิตเพียงลำพังกระทั่งเปิดร้านอาหารและมีเรือกสวนขนาดไม่อายใคร แน่นอนเขามีผู้หญิงเข้ามาในชีวิตตลอดเวลา แต่ไม่เคยคิดที่จะหยุดใจไว้ที่ใคร จนกระทั่งมาเจอหน่อเนื้อเชื้อไขทั้งสองคน ทั้งคู่ทำให้เขาอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว อาจเพราะความง่ายๆ ที่ไม่อาจเรียกว่ามักง่ายของเขาที่คิดว่าเขาสามารถเป็นพ่อจริงๆ ของเด็กๆ ได้ โดยไม่คิดว่าครอบครัวคำนี้ไม่สามารถสร้างได้ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน “ครอบครัว” คือสิ่งที่ทั้ง Nic และ Jules ใช้เวลาตั้งเกือบ 20 ปีสร้างมันขึ้นมา Paul เป็นเพียงไอ้เส็งเคร็งที่บุกรุกเข้ามาทำให้บ้านนี้สั่นคลอนเท่านั้นเอง

             ท้ายที่สุดหนังได้บอกกับเราว่าเรื่องแบบนี้มันเกิดได้กับทุกครอบครัว สมาชิกในบ้านต้องช่วยกันประคับประคองให้ครอบครัวเป็นไปอย่างที่มันควรจะเป็น ไม่มีครอบครัวไหนสมบูรณ์แบบ ต่อให้บ้านหลังนั้นมีพ่อเป็นผู้ชาย หรือไม่มี เพราะนั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่บางครอบครัวต้องการ เพราะนี่คือครอบครัวของพวกเขา และมันเป็นอย่างนี่มาเกือบ 20 ปีแล้ว ฉากสุดท้ายที่มือของ Jules เอื้อมมาสัมผัสหัวเข่าของ Nic แล้วมือของ Nic เองก็เอื้อมมาจับมือของ Jules เราได้เห็นรอยยิ้มของ Laser เจ้าตัวเล็กของบ้านส่งข้อความบอกกับทุกครอบครัวว่า It’s gonna be all right ทุกคนเผลอไพลได้ ผิดพลาดได้ อย่าซ้ำเติมกันเพราะมันไม่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นมา แน่นอน Nic ให้อภัย Jules และผมเชื่อว่าบ้านหลังนี้สามารถผ่านเรื่องราวอันเลวร้ายนี่ไปได้ด้วยความรักและความเข้าใจ เพราะสิ่งที่ครอบครัวนี้ไม่เคยขาด คือ ความรัก ความเข้าใจ และอ้อมกอดที่เต็มเติมความอบอุ่นจากผู้หญิงสองคนที่ให้แก่ลูกๆ แน่นอนมันทดแทนสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ แต่มันก็เพียงพอแล้วสำหรับครอบครัวของพวกเขา

-อั๋นน้อย-