...ผมเคยสงสัยว่าจริงๆ แล้วคนเรามีสิทธิ์ที่จะกำหนดชีวิตของตัวเองหรือไม่ ผมเคยเชื่อในเสรีภาพในการเลือกของตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองเลือกที่จะทำนั้นดีที่สุดแล้ว แต่เรากลับพบในภายหลังว่าสิ่งที่เราเคยคิดว่ามันจะดีที่สุด มันอาจจะล้มเหลวลงได้ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามาในถนนเส้นที่เราเลือกเดิน ด้วยเหตุนี้เองผมจึงเชื่อในเรื่องพรหมลิขิต ทุกคนในโลกใบนี้หากไม่มีความเชื่อในสิ่งนี้เราจะหาเป้าหมายในชีวิตของเราไม่ได้ เพราะอย่างน้อยหากเราท้อในชะตากรรมของตัวเองแม้ว่าเราพยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว เราก็บอกกับตัวเองว่ามันคือพรหมลิขิต มันเป็นชะตากรรมของเราที่ไม่สามารถกำหนดให้มันเป็นไปอย่างที่ต้องการ หนังเรื่อง Slumdog Millionaire เป็นเรื่องราวที่ตอกย้ำความเชื่อในเรื่อง พรหมลิขิต (Destiny) ของผมอีกครั้ง...
...ในบรรดาภาพยนตร์ 5 เรื่องที่ได้เข้าชิง Oscar สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่ผมมีโอกาสได้ดู เรื่องราวของตัวหนังไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการเล่นเกมเศรษฐีที่เคยโด่งดังสมัยคุณไตรภพเป็นพิธีกร แต่เบื้องหลังคำตอบจากไอ้ลูกหมาจากย่านสลัมชื่อ จามาล ที่สามารถพิชิตทุกคำถามกลับกลายเป็นเรื่องราวที่ไม่คาดคิดว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เขาพานพบมันมาค่อนชีวิต หนังเริ่มต้นด้วยคำถามว่าแบบปรนัยว่า “จามาล มาลิค เหลือเพียงอีกคำถามเดียวที่เขาจะพิชิตเงินรางวัล 20 ล้านรูปี เขาทำได้อย่างไร A.เขาโกง B.เขาโชคดี C.เขาเป็นอัจฉริยะ หรือ D.มันถูกกำหนดไว้ หนังทิ้งให้เราค้นหาคำตอบและเฉลยในประโยคสุดท้ายว่า “มันถูกกำหนดไว้” ความเชื่อทางศาสนาแทบทุกศาสนาเชื่อว่าจริงแล้วมนุษย์ไม่ได้มีเสรีภาพอย่างแท้จริง ทุกชีวิตบนโลกถูกกำหนดให้มีลิขิตที่แตกต่างกันไป เหมือนกับคำถามแบบปรนัยที่มันมีคำตอบที่แน่ชัดตั้งแต่เกิดว่า “คนที่มาจากวรรณะใด ต้องมีชีวิตเยี่ยงวรรณะนั้น” แฉกเช่นเดียวกับคนที่มาจากสลัมย่อมต้องมีชีวิตแบบลูกหมาข้างถนนเช่นนั้นหรือ...
...หลังจากนั้นหนังได้นำย้อนเรื่องราวของเด็กสลัม 3 คน จามาล ซาลิม และลาติกา ผ่านภาพในอดีตของจามาลก่อนที่เขาจะมาแข่งขันรายการเกมเศรษฐี อินเดียถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้น้อยมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกเนื่องจากในอดีตมีการแบ่งวรรณะ และในปัจจุบันวรรณะนั้นได้กลายเป็นชนชั้น ความมั่งคั่งจึงกระจุกอยู่ที่คนส่วนน้อยในประเทศ ผู้คนในเมืองใหญ่จำนวนมากยังคงยากจนอยู่ รวมถึงความเชื่อและศาสนาก็มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน Slumdog Millionaire แสดงถึงความขัดแย้งทางความเชื่อ ในฉากหนึ่งที่สะเทือนใจผมมากกับประโยคที่จามาลบอกกับนายตำรวจว่า “ผมตื่นขึ้นมาทุกเช้า แล้วภาวนาว่าผมไม่รู้คำตอบนั้น ...ถ้าไม่ใช่เพราะ พระราม และ อัลเลาะห์ ...แม่ผมคงยังมีชีวิตอยู่” ความขัดแย้งทางศาสนาระหว่าง พราหมณ์-ฮินดู และอิสลาม ยังคงเป็นปัญหาในอินเดียที่แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยไม่เหลียวแล หรือเป็นเพียงเพราะพวกเขาอยู่ในสลัม...
...ในวัยเด็กของทั้งสามคนทำให้ผมนึกถึงเด็กขายพวงมาลัยเวลากลางคืนตามร้านอาหารในเชียงใหม่ ผมเป็นคนที่ค่อนข้างใจแข็งไม่เคยซื้อของจากเด็กเหล่านั้น เพราะผมถือว่านั่นคือการสนับสนุนผู้ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังให้กอบโกยประโยชน์จากความน่าสงสารของพวกเขา ผมบอกกับพวกเขาเสมอว่าให้กลับบ้านไปนอน เพราะพวกเขาทำให้ผมย้อนนึกถึงตัวเองในวัยเดียวกัน เวลาประมาณสองสามทุ่มเป็นเวลาที่พวกเราต้องทำการบ้าน จัดหนังสือเข้ากระเป๋าตามตารางเรียนในแต่ละวันแล้วเข้านอน แต่มันอาจมีความจำเป็นบางอย่างที่พวกเขาต้องใช้เวลานี้ทำมาหากิน สำหรับผมถ้าหากเราไม่สนับสนุนมันอาจจะลดจำนวนเด็กเหล่านั้นบ้างก็ยังดี เด็กบางคนถูกทำให้พิกลพิการเพื่อเรียกร้องความสงสาร หรือเพื่อเพิ่มมูลค่าเหมือนที่ปรากฏในหนังเรื่องนี้ ถ้าพวกเขาเลือกได้พวกเขาคงไม่อยากอยู่ในสภาพเดียวกับ เออร์วินด์ เด็กชายผู้ทำให้ จามาล รู้จัก เบนจามิน แฟรงคลิน ชายผู้มีรูปบนธนบัตรใบละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ พรสวรรค์ทางด้านการร้องเพลงกลับทำให้เขากลายเป็นคนพิการ ฉากที่ เออร์วินด์ สัมผัสหน้า จามาล แล้วบอกว่าจามาลโชคดี แต่เขาเองแหละที่โชคร้าย มันคือความแตกต่าง แสดงให้เห็นว่าคนบางคนมีโอกาสที่จะกำหนดชีวิตของตัวเอง แต่สำหรับบางคนทำได้เพียงยอมรับในชะตากรรมของตัวเอง...
... ไม่มีใครในโลกนี้เลือกเกิดได้ ทุกคนเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตบนโลกนี้ ประสบการณ์เหมือนกับรอยจารึกที่มันจะประทับลงในผัสสะทั้ง 5 จามาล มาลิค เขาไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลอัจฉริยะ เพราะทุกคำถามมันมีคำตอบบนร่องรอยความหลังที่มันฝังอยู่ในความทรงจำ เฉกเช่นเดียวกับบาดแผลบนใบหน้าของ ลาติกา ที่เขาบรรจงจูบมันอย่างรักใคร่ในความเป็นเธอ รักใคร่ในทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของทั้งสองคน...
...พรหมลิขิตมักจะใช้ในเรื่องของความรัก เพลงรักมากมายมักจะพูดถึงคำนี้ เหมือนกับความรักที่ จามาล มอบให้ ลาติกา แม้ทั้งสองพลัดพรากกันถึงสองครั้งสองคราทั้งตอนที่ทั้งคู่ยังเด็ก และตอนเป็นวัยรุ่น แต่เพราะ จามาล ยึดมั่นในในรักแท้ที่เขาเชื่อว่ามันมีอยู่จริง เขาตามหาเธอจนพบ ผมสังเกตเห็นในใบปิดของหนังเรื่องนี้ มีคำถามเหมือนในเกมเศรษฐีว่า “What does it take to find a lost love?” A.Money B.Luck C.Smarts D.Destiny” แน่นอนคำตอบที่หนังเฉลยคือข้อ “D.Destiny” ลาติกาพบว่าแม้เธอจะมีเงินทองมากมายแต่ต้องแลกกับการทนอยู่กับคนที่เธอไม่ได้รัก จามาลเองก็พบว่าโชคให้เขาได้เพียงเงินทอง คนฉลาดในการเอาตัวรอดอย่างซาลิมต้องจบชีวิตลงเพราะเลือกใช้ชีวิตแบบอาชญากร บทสรุปคือรักแท้ในโลกใบนี้มันถูกกำหนดไว้แล้ว เราไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนขีดเขียนเอาไว้ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อในพระพรหมว่าเป็นผู้ลิขิต มุสลิมหรือคริสเตียนเชื่อในพระผู้เป็นเจ้า ชาวพุทธอย่างเราเชื่อเรื่องการทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน สรุปแล้วมันก็คือเรื่องเดียวกัน พลังของหนังเรื่องนี้ได้บอกกับเราว่าอย่าเพิ่งท้อแท้ในชะตากรรมที่เราอาจไม่ได้เป็นผู้กำหนด บางทีเราทำดีที่สุดแล้วแต่มันกลับไม่ได้ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้ อย่าไปโทษใครเลย มันคือพรหมลิขิตมันนอกเหนือการควบคุมของเรา แต่อย่าท้อถอยให้ยอมรับในผลลัพธ์ของมัน แล้วพยายามใหม่ ขอเพียงเชื่อมั่นและศรัทธาในสิ่งที่กำลังจะทำและทำให้ดีที่สุด อาจจะมีสักวันหนึ่งที่มันจะเป็นวันของเราเหมือนกับวันที่ “ไอ้สลัมลูกหมาชื่อ จามาล” บอกกับ ลาติกา ว่า “มันคือพรหมลิขิตของเรา”...
-อั๋นน้อย-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น